Header Image
​“พาณิชย์”จัดมหกรรมหลักประกันธุรกิจ เชิญ 9 สถาบันการเงินให้คำปรึกษา-ปล่อยซอฟต์โลน
watermark

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เตรียมจัดงาน “มหกรรมทรัพย์หลักประกันทางธุรกิจ” วันที่ 27-28 มี.ค.นี้ ที่กระทรวงพาณิชย์ เชิญสถาบันการเงิน 9 แห่ง มาให้คำปรึกษา แนะนำ และปล่อยสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษ แก่เอสเอ็มอี โดยใช้หลักประกันทางธุรกิจมาค้ำประกัน พร้อมเชิญสมาคมนักประเมินราคาอิสระไทย มาร่วมประเมินราคาทรัพย์สิน และยังสามารถชม ชอป สินค้าจากกลุ่มฟู้ดทรัค สินค้าชุมชน และ BCG
         
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมเตรียมจัดงาน “มหกรรมทรัพย์หลักประกันทางธุรกิจ” ระหว่างวันที่ 27-28 มี.ค.2567 ณ ลานอเนกประสงค์ ชั้น 3 กระทรวงพาณิชย์ เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น โดยจะเชิญสถาบันการเงิน 9 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารไทยเครดิต บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME D Bank) ธนาคารออมสิน และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย มาให้คำปรึกษา แนะนำ และปล่อยสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษ (ซอฟต์โลน) ผ่านกลไกกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจที่เอสเอ็มอีสามารถใช้หลักทรัพย์ที่เป็นหลักประกันทางธุรกิจมาค้ำประกันการขอสินเชื่อโดยไม่ต้องส่งมอบการครอบครองทรัพย์สิน ได้แก่ กิจการ สิทธิเรียกร้อง สังหาริมทรัพย์ที่ผู้ให้หลักประกันใช้ในการประกอบธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์ในกรณีที่ผู้ให้หลักประกันประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยตรง ทรัพย์สินทางปัญญา และไม้ยืนต้น เป็นต้น
         
ทั้งนี้ สถาบันการเงินที่เข้าร่วมงาน จะมีการนำเสนอสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษในรูปแบบซอฟต์โลนแก่เอสเอ็มอีภายในงาน เพื่อให้ผู้ประกอบการนำสินเชื่อที่ได้รับไปต่อยอดประกอบธุรกิจ ขยายการลงทุน หรือหากยังไม่พร้อมที่จะขอสินเชื่อภายในงาน ก็สามารถขอคำปรึกษา แนะนำ เกี่ยวกับการเขียนแผนธุรกิจ หรือขั้นตอน เอกสารประกอบการขอสินเชื่อ รวมทั้งให้สถาบันการเงินวิเคราะห์ความเป็นไปได้เบื้องต้นที่จะได้รับสินเชื่อ ซึ่งสถาบันการเงินยินดีและพร้อมอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการตลอดการจัดงานทั้ง 2 วัน
         
ขณะเดียวกัน กรมได้เชิญสมาคมนักประเมินราคาอิสระไทย มาร่วมให้บริการประเมินราคาทรัพย์สินที่ผู้ประกอบการจะใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการขอสินเชื่อ ทำให้ผู้ประกอบการได้ทราบถึงมูลค่าของทรัพย์สินเบื้องต้น และคาดการณ์จำนวนสินเชื่อที่จะได้รับจากการนำทรัพย์สินประเภทนั้นมาดำเนินการขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน หรือหากประชาชนทั่วไปต้องการให้สมาคมฯ ช่วยประเมินราคาทรัพย์สินที่ตนเองถือครองอยู่เพื่อทราบถึงมูลค่าทรัพย์สิน ณ ปัจจุบัน ก็สามารถมาขอคำปรึกษาแนะนำได้ภายในงาน “ผู้เข้าร่วมงานสามารถขอรับบริการได้ทั้งการขอคำปรึกษาด้านการประเมินราคาทรัพย์สินและการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้ภายในงานเดียว เรียกว่า มางานเดียวจบครบทุกกระบวนการขอสินเชื่อ โดยดำเนินการได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ประหยัดเวลา และค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ที่สำคัญ เป็นการให้บริการที่ไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น”

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการเชื่อมโยงเพื่อแจ้งข้อมูลการจดทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (MOU) ระหว่างกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กับหน่วยงานทรัพย์มีทะเบียน ได้แก่ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กรมเจ้าท่า กรมโรงงานอุตสาหกรรม และกรมการขนส่งทางบก เพื่อเพิ่มศักยภาพการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ในการเชื่อมโยงข้อมูลการจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ ผ่านระบบจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ (e-Secured) ด้วย

พร้อมกันนี้ ได้เปิดโอกาสให้เครือข่ายธุรกิจของกรม ได้แก่ ผู้ประกอบการฟู้ดทรัค ผู้ประกอบการชุมชน Smart Local BCG โอทอป และเครือข่ายธุรกิจ MOC Biz Club จำนวน 50 ร้านค้า เข้าร่วมแสดงและจำหน่ายสินค้าภายในงาน เพื่อขยายฐานลูกค้าและขยายตลาดให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น รวมทั้งมีหน่วยงานพันธมิตรร่วมออกบูธวิชาการให้ความรู้เกี่ยวกับทรัพย์หลักประกัน ได้แก่ กรมทรัพย์สินทางปัญญา (เครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร) กรมเจ้าท่า (เรือ) กรมโรงงานอุตสาหกรรม (เครื่องจักร) กรมการขนส่งทางบก (รถยนต์) และหน่วยงานพันธมิตรอื่น ๆ มาร่วมให้ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ ได้แก่ กรมป่าไม้ กรมส่งเสริมการเกษตร สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) (BEDO) องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (TGO) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (บูธไม้ยืนต้น)
         
สำหรับการดำเนินการดังกล่าว เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์ โดยนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายนภินทร ศรีสรรพางค์นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ต้องการให้ภาครัฐเร่งดำเนินงานมาตรการเชิงรุกเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีผ่านกลไกเครื่องมือต่าง ๆ ทั้งของภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะการให้ความช่วยเหลือด้านแหล่งเงินทุนเพื่อเสริมสภาพคล่องแก่ภาคธุรกิจและต้องดำเนินการควบคู่กับการเสริมสร้างองค์ความรู้ พัฒนาศักยภาพทางธุรกิจสมัยใหม่ให้สอดรับกับบริบทการเปลี่ยนแปลงทั้งปัจจุบันและอนาคต รวมทั้งขยายช่องทางการตลาดให้หลากหลายครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายและทุกตลาดทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างโอกาสการเติบโตทางธุรกิจแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี



คะแนนโหวต :
starstarstarstarstar
จำนวนการเข้าชม : 38,351