สำนักงานพาณิชย์จังหวัดพิษณุโลก
14 ถนนจ่านกร้อง ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก 65000
โทรศัพท์ : 05 524 2909 Email : pl_ops@moc.go.th
สนค.เผยสินค้าโกโก้และของปรุงแต่งจากโกโก้ของไทย มีแววดาวรุ่ง เป็นสินค้าส่งออกรายการใหม่ จากความต้องการของตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น ทั้งอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม และวัตถุดิบผลิตเครื่องสำอางและยาบางชนิด แนะต้องส่งเสริมการผลิตเมล็ดโกโก้ให้มีคุณภาพ สนับสนุนการแปรรูป ปัจจุบัน ไทยส่งออกโก้โก้และของปรุงแต่งไปญี่ปุ่นมากสุด ตามด้วยจีน เมียนมา มาเลเซีย และอินเดีย และส่งออกเมล็ดโกโก้ เป็นลำดับที่ 68 ของโลก นำเข้าอันดับที่ 90
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค. ได้ติดตามสถานการณ์การค้าสินค้าโกโก้และช็อกโกแลตของไทย พบว่า แม้ปัจจุบันไทยมีมูลค่าการค้าสินค้าโกโก้และของปรุงแต่งไม่มาก แต่จากแนวโน้มความต้องการในตลาดโลกที่เพิ่มมากขึ้น และมีแนวโน้มขยายตัวดี แสดงให้เห็นว่ายังมีโอกาสให้สินค้าโกโก้ของไทยเติบโตอีกมาก เนื่องจากโกโก้สามารถแปรรูปได้หลายประเภทในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงเป็นวัตถุดิบสำหรับกระบวนการผลิตเครื่องสำอางและยาบางชนิด
ทั้งนี้ ไทยควรหาแนวทางเจาะตลาดใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพ และต้องส่งเสริมการผลิตเมล็ดโกโก้ในประเทศให้มีคุณภาพ พร้อมทั้งสนับสนุนการแปรรูปโกโก้ให้เป็นสินค้าที่หลากหลาย และได้มาตรฐานตรงตามความต้องการของผู้บริโภค สำหรับปี 2566 ไทยส่งออกโกโก้และของปรุงแต่งที่ทำจากโกโก้ มูลค่า 87 ล้านเหรียญสหรัฐ (3,004 ล้านบาท) และช่วง 9 เดือนของปี 2567 (ม.ค.-ก.ย.) ไทยส่งออกโกโก้และของปรุงแต่งที่ทำจากโกโก้ มูลค่า 74 ล้านเหรียญสหรัฐ (2,630.7 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 16.4% ตลาดส่งออกสำคัญ 5 อันดับแรกของไทย ได้แก่ 1.ญี่ปุ่น 22 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 42.2% 2.จีน 9 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 40.3% 3.เมียนมา 6.2 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 19.4% 4.มาเลเซีย 4.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ลด 6.1% และ 5.อินเดีย 4 ล้านเหรียญสหรัฐ ลด 9.4% และยังมีตลาดศักยภาพอื่น ๆ ที่ขยายตัวดี ได้แก่ แคนาดา เพิ่ม 392% สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพิ่ม 90.7% สหรัฐฯ เพิ่ม 46.3% อินโดนีเซีย เพิ่ม 33.8% และรัสเซีย เพิ่ม 20.2%
ส่วนการค้าเมล็ดโกโก้ของโลก ในปี 2566 ประเทศผู้ส่งออกเมล็ดโกโก้ที่มีมูลค่าสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.โกตดิวัวร์ มูลค่า 3,329 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 33.7% ของมูลค่าการส่งออกของโลก 2.เอกวาดอร์ 1,172 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 11.9% 3.กานา 1,107 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 11.2% 4.แคเมอรูน 752 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 7.6% และ 5.เบลเยียม 692 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 7% ส่วนไทย มูลค่า 0.12 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นผู้ส่งออกอันดับที่ 68 ของโลก และประเทศผู้นำเข้าเมล็ดโกโก้ที่มีมูลค่าสูงสุด 5 อันดับแรกของโลก ได้แก่ 1.เนเธอร์แลนด์ 2,184 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 20.1% 2.มาเลเซีย 1,494 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 13.8% 3.เยอรมนี 1,338 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 12.3% 4.เบลเยียม 977 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 9% และ 5.สหรัฐฯ 804 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 7.4% สำหรับไทย มีมูลค่า 0.02 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นผู้นำเข้าอันดับที่ 90 ของโลก
ทางด้านตลาดเมล็ดโกโก้ทั่วโลก ในปี 2566 มีมูลค่า 16,000 ล้านเหรียญสหรัฐ คาดว่าจะเติบโตกว่า 22,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2571 หรือเพิ่มเฉลี่ย 7% ต่อปี และตลาดช็อกโกแลตทั่วโลก คาดว่าปี 2565-2573 จะเติบโตในอัตราเฉลี่ย 4.4% ต่อปี ส่วนราคาโกโก้ในตลาดโลก เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเดือน ต.ค.2567 อยู่ที่ 6.6 เหรียญสหรัฐ/กิโลกรัม เพิ่มขึ้น 83.3% และประเทศผู้ผลิตโกโก้ 5 อันดับแรกของโลก ได้แก่ 1.โกตติวัวร์ สัดส่วน 37.9% ของปริมาณผลผลิตโกโก้ของโลก 2.กานา สัดส่วน 18.8% 3.อินโดนีเซีย สัดส่วน 11.3% 4.เอกวาดอร์ สัดส่วน 5.7% และ 5.แคเมอรูน สัดส่วน 5.1% ส่วนไทยมีปริมาณการผลิต 1,256 ตัน สัดส่วน 0.02% โดยปี 2566 ไทยมีผลผลิตโกโก้ 3,360 ตัน เพิ่ม 167.6% เนื่องจากมีพื้นที่เก็บเกี่ยวผลผลิตเพิ่มขึ้น โดยพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในภาคใต้ เช่น นครศรีธรรมราช พัทลุง และระนอง เป็นต้น