Header Image
ข้อมูลทั่วไปจังหวัด
watermark

จังหวัดพิษณุโลก

ประวัติความเป็นมาของจังหวัดพิษณุโลก
               หลักฐานการสร้างเมืองพิษณุโลกมีมาแต่พุทธศตวรรษที่ 15 สมัยขอมมีอำนาจปกครองแถบนี้ แต่เดิมมีชื่อเรียกว่า “ เมืองสองแคว ” เนื่องจากเมืองนี้ตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำน่าน และแม่น้ำแควน้อย หรือบริเวณที่ตั้งของวัดจุฬามณีในปัจจุบัน เมื่อประมาณปี พ.ศ. 1900 สมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไทยแห่งกรุงสุโขทัย ได้โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายเมืองมาตั้งอยู่ ณ ตัวเมืองปัจจุบัน โดยมีฐานะเป็นเมืองลูกหลวง สมัยอยุธยา เมืองพิษณุโลกทวีความสำคัญมากขึ้น เพราะเป็นเมืองกึ่งกลางระหว่างกรุงศรีอยุธยาและอาณาจักรฝ่ายเหนือ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงปฏิรูปการปกครองและได้เสด็จมาประทับที่เมืองนี้ตั้งแต่ พ.ศ. 2006 จนสิ้นรัชกาลในปี พ.ศ. 2031 ช่วงนั้นพิษณุโลกเป็นราชธานีแทนกรุงศรีอยุธยาถึง 25 ปี หลังรัชสมัยของพระองค์ พิษณุโลกมีฐานะเป็นเมืองลูกหลวงเป็นหน้าด่านสำคัญ ที่จะสกัดกั้นกองทัพพม่า เมื่อครั้งพระนเรศวรมหาราชดำรงฐานะพระมหาอุปราชครองเมืองพิษณุโลก ระยะนั้นไทยตกเป็นเมืองขึ้นพม่า สมเด็จพระนเรศวรได้ทรงรวบรวมชายฉกรรจ์ชาวพิษณุโลกกอบกู้อิสรภาพชาติไทยได้ ในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ทรงดำรงให้รื้อกำแพงเมืองพิษณุโลกเพื่อไม่ให้ข้าศึกใช้เป็นที่มั่น ครั้นถึงปี พ.ศ. 2437 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะเมืองพิษณุโลกขึ้นเป็นมณฑล เรียกว่า มณฑลพิษณุโลก ต่อมาเมื่อยกเลิกการปกครองแบบมณฑลแล้ว พิษณุโลกจึงมีฐานะเป็นจังหวัดเรื่อยมาจนปัจจุบัน
ภูมิประเทศและภูมิอากาศ
จังหวัดพิษณุโลก ตั้งอยู่ในภาคเหนือตอนล่าง มียุทธศาสตร์ทางภูมิศาสตร์ในด้านที่ตั้ง ซึ่งมีลักษณะเด่นเฉพาะตัว เนื่องจากมีส่วนที่เชื่อมต่อกับภาคกลางกับภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ เป็นจังหวัดที่มีลักษณะเชื่อมต่อไปยังประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอินโดจีน  โดยมีภูมิประเทศติดต่อกับเทือกเขาที่พาดจากภาคเหนือ เป็นที่กั้นแบ่งเขตกับแขวงไชยบุรี ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว  ลักษณะภูมิประเทศของจังหวัดพิษณุโลก  ตัวเมืองพิษณุโลกตั้งอยู่บนสองฝั่งแม่น้ำน่าน ทางตอนเหนือและตอนกลางเป็นเขตที่ราบสูงและมีขอบเขตภูเขาสูง  ด้านตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือ  ซึ่งอยู่ในท้องที่อำเภอวังทอง  อำเภอวัดโบสถ์  อำเภอชาติตระการ และอำเภอเนินมะปราง  ทั้งนี้เขตที่ราบหุบเขานครไทย และ ที่ราบหุบเขาชาติตระการด้วย  โดยที่หุบเขานครไทยเป็นที่ราบดินตะกอนที่อุดมสมบูรณ์ที่มีลักษณะเป็นแบบคุ้งกระทะ ส่วนที่ราบหุบเขาชาติตระการ มีรูปร่างคล้ายพระจันทร์เสี้ยว เป็นที่ราบดินตะกอนที่อุดมสมบูรณ์เช่นเดียวกัน  พื้นที่ตอนกลางทางใต้เป็นที่ราบ  และตอนใต้เป็นที่ราบลุ่ม โดยเฉพาะบริเวณลุ่มแม่น้ำน่านและแม่น้ำยม เป็นย่านการเกษตรที่สำคัญที่สุดของจังหวัด ซึ่งอยู่ในท้องที่อำเภอบางระกำ อำเภอเมืองพิษณุโลก อำเภอพรหมพิราม และบางส่วนของอำเภอวังทอง  และอำเภอเนินมะปราง ภูเขาสูงในเขตจังหวัดพิษณุโลก  ส่วนใหญ่อยู่ทางตอนกลางของจังหวัด ได้แก่ เขาช่องลม  เขาอุโมงค์  เขาคันโช้ง  เขาสมอแครง  และเขาฟ้า  ด้านตะวันออกเป็นเทือกเขาต่อเนื่องจากตอนใต้ของจังหวัดอุตรดิตถ์ต่อเนื่องมาทางใต้ติดกับจังหวัดเพชรบูรณ์ ในพื้นที่ตั้งแต่อำเภอชาติตระการ และอำเภอนครไทย  อำเภอวังทอง และอำเภอเนินมะปราง ลักษณะแบ่งแนวเขตจังหวัดพิษณุโลกกับจังหวัดเลยและเพชรบูรณ์ ลักษณะภูมิอากาศบริเวณจังหวัดพิษณุโลก มีบริเวณความกดอากาศสูง หรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรง จากประเทศจีนแผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ทำให้บริเวณเทือกเขาและยอดดอย อากาศหนาว ทัศนวิสัย ๘-๑๐ กิโลเมตร ตอนเช้าลดลงเป็น ๕-๗ กิโลเมตร ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว ๑๐-๒๐ กิโลเมตร/ชั่วโมง
จังหวัดพิษณุโลก เป็นจังหวัดอยู่ในเขตภาคเหนือตอนล่าง ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 377 กิโลเมตรโดยทางรถยนต์ มีเนื้อที่ 10,815.8 ตารางกิโลเมตร (6,759,909 ไร่)
หรือร้อยละ 6.4 ของพื้นที่ภาคเหนือ และร้อยละ 2.1 ของพื้นที่ทั้งประเทศ มีอาณาเขตติดต่อดังนี้
                    ทิศเหนือ  ติดกับอำเภอน้ำปาด อำเภอพิชัย อำเภอทองแสนขัน จังหวัดอุตรดิตถ์ และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
ทิศใต้  ติดกับอำเภอเมือง อำเภอสามง่าม อำเภอวังทรายพูน อำเภอสากเหล็ก จังหวัดพิจิตร
ทิศตะวันออก  ติดกับอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย อำเภอเขาค้อ อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์
ทิศตะวันตก  ติดกับอำเภอลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชร อำเภอคีรีมาศ อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย

ตราประจำจังหวัด
รูปพระพุทธชินราช ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่มีลักษณะงดงามที่สุดของประเทศไทย สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.1900 ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ ณพระอุโบสถ์   วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร ในเมืองพิษณุโลกเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง  จึงนำมาเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัด

ธงประจำจังหวัด


พื้นสีม่วง มีตราจังหวัดเป็นสัญลักษณ์

ต้นไม้ประจำจังหวัด

ต้นปีบ ปีบเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่มีความสูงประมาณ 10-20 เมตร ผลัดใบ เรือนยอดเป็นพุ่มทรงกระบอก กิ่งก้านมักจะย้อยลง เปลือกสีน้ำตาลแตกเป็นร่องลึกตามยาวลำต้นอย่างไม่เป็นระเบียบ ใบประกอบแบบขนนก 2-3 ชั้น เรียงเวียน ช่อแขนงด้านข้างมี 3-5 คู่ ปลายคี่ เรียงตรงข้าม ใบย่อยแขนงละ 2-4 คู่ เรียงตรงข้าม ใบรูปไข่หรือรูปไข่แกมใบหอก กว้าง 2-3 ซม. ยาว 4-8 ซม. ปลายแหลม โคนใบมน ขอบใบหยักมนหรือเว้าเป็นคลื่นเล็กน้อย ดอกมีสีขาวหรือชมพู มีกลิ่นหอม ออกเป็นช่อแบบช่อกระจุกซ้อนตามปลายกิ่ง ช่อดอกขนาดใหญ่ ยาว 10-35 ซม. มีขน กลีบเลี้ยงมีขนาดเล็ก โคนติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยก 5 แฉก ปลายมนกว้างม้วนลง เป็นหลอดยาวปลาย 4 แฉก มี 1 กลีบที่ปลายเป็น 2 แฉก ดอกบานเต็มที่กว้าง 3.5-4 ซม. ผลแห้งแตก เป็นฝักแบนและตรง สีน้ำตาล หัวท้ายแหลม กว้าง 1.5-2.3 ซม. ยาว 25-30 ซม. เมล็ดแบนมีปีกบาง

ดอกไม้ประจำจังหวัด

นนทรี (ชื่อวิทยาศาสตร์: Peltophorum pterocarpum) เป็นไม้ยืนต้นในวงศ์ถั่ว ทรงพุ่มสูงได้ถึง 25 เมตร กึ่งผลัดใบ เรือนยอดรูปร่ม แผ่กว้าง ใบเป็นใบประกอบขนนกสองชั้นรูปไข่ ออกดอกเป็นช่อตั้งขนาดใหญ่ที่ปลายกิ่ง สีเหลือง มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ออกดอกในฤดูแล้งช่วงเดือนมีนาคม-มิถุนายน

สัตว์ประจำจังหวัด

  ไก่ชนนเรศวร เป็นไก่ชนตามประวัติศาสตร์ซึ่งปรากฏอยู่ในพงศาวดาร เมื่อครั้งที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงพำนักอยู่ในกรุงหงสาวดี ประเทศพม่า ทรงนำไก่เหลืองหางขาวไปจากเมืองพิษณุโลก เพื่อนำไปชนกับไก่ของพระมหาอุปราชา เป็นไก่ชนที่มีลักษณะพิเศษมีความเฉลียวฉลาดในการต่อสู้ จึงชนชนะ จนได้รับสมญานามว่า “เหลืองหางขาว ไก่เจ้าเลี้ยง” สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดพิษณุโลก ได้ศึกษาค้นคว้า และทำการส่งเสริมเผยแพร่ โดยจัดประกวดครั้งแรกเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2533 ในนามของ “ไก่ชนนเรศวร” และปี 2534 ได้จัดตั้งชมรมอนุรักษ์ไก่ชนนเรศวรขึ้นที่ ตำบลหัวรอ อำเภอเมืองพิษณุโลก โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก จนถึงปี 2542 ได้จัดตั้งกลุ่มอนุรักษ์และพัฒนาไก่ชนนเรศวร ขึ้นทุกอำเภอ รวม 12 กลุ่มเพื่ออนุรักษ์และพัฒนาสายพันธุ์ให้คงอยู่เป็นสมบัติคู่ชาติตลอดไป

สุนัขพันธุ์บางแก้ว ต้นกำเนิดของสุนัขพันธุ์บางแก้ว อยู่ที่ วัดบางแก้ว ต.บางแก้ว อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก สุนัขพันธุ์บางแก้ว เป็นสายเลือดผสมระหว่าง สุนัขพันธุ์ไทยพื้นบ้านกับสุนัขป่า เนื่องจากภูมิประเทศแถบ ต.บางแก้ว สมัยก่อนค่อนข้างมีลักษณะเป็นป่ามีต้นไม้หนาแน่น เป็นที่อาศัยของสุนัขจิ้งจอกและสุนัขไน หรือที่เรียกว่า หมาไน ทำให้เกิดผสมพันธุ์กันระหว่างสุนัขทั้ง 3 สายพันธุ์ จนในที่สุดก็ได้เป็น "สุนัขพันธุ์บางแก้ว" ที่มีลักษณะหลายสีเหมือนสุนัขบ้าน มีขนยาวสองชั้นเหมือนสุนัขป่า หูป้องไปข้างหน้าเหมือนจิ้งจอก ดุ รักถิ่นฐานเหมือนสุนัขบ้าน มีความกล้าหาญและสัญชาตญาณนักล่าเหมือนหมาใน

สถานที่ท่องเที่ยว
 


1. วัดพระศรีมหาธาตุวรวิหาร
หรือชื่อที่เรียกกันทั่วไปว่า "วัดใหญ่" ตั้งอยู่ที่ ถนนพุทธบูชา ริมฝั่งแม่น้ำน่านด้านทิศตะวันออก ตรงข้ามกับศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก เป็นพระอารามหลวง ชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร เป็นที่รู้จักโดยทั่วไปในฐานะสถานที่ประดิษฐานพระพุทธชินราช พระพุทธรูปที่ได้รับการยกย่องว่าสวยงามที่สุดในประเทศไทย วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร เป็นวัดที่มีประวัติยาวนานมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย   มีสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม 
และประติมากรรมที่งดงามยิ่ง ถือได้ว่าเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมอันล้ำค่าของเมืองพิษณุโลก


2.อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง 
มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักท่องธรรมชาติและเป็นอุทยานฯ ที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ มีพื้นที่ 789,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ จ. พิษณุโลกและเพชรบูรณ์ มีสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาน้อยใหญ่สลับซับซ้อน เป็นแหล่งต้นลำธารสำคัญที่ไหลลงสู่แม่น้ำน่าน


3.ล่องแก่งลำน้ำเข็ก ส้นทางค่อนข้างคดเคี้ยวท้าทายตื่นเต้นอยู่ตลอดเวลา ใช้เวลา 2-3 ชั่วโมงขึ้นอยู่กับกระแสน้ำและปริมาณของน้ำฝน ระยะทาง 8 กิโลเมตร โดยมีจุดเริ่มต้นอยู่ที่บริเวณบ้านท่าข้ามล่องไปสู่บริเวณตอนบนของน้ำตกแก่งซอง มีแก่งหินน้อยใหญ่ให้พิสูจน์ความกล้าถึง 17 แก่ง


4. ทุ่งโนนสน 
เป็นทุ่งหญ้าสลับป่าสนเขา ช่วงปลายฝนต้นหนาวตามลานหินจะเต็มไปด้วยไม้ป่าที่แข่งกันออกดอกอวดโฉมความสวยงามทั่วท้องทุ่ง เช่น ดุสิตา ม้าวิ่ง กระดุมเงิน กระดุมทอง สร้อยสุวรรณา เขนงนายพราน และกล้วยไม้ดินนานาชนิด ทุ่งโนนสนตั้งอยู่บริเวณตอนกลางของอุทยานฯ ห่างจากหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ สล.12 (รักไทย) 15 กิโลเมตร โดยเดินทางด้วยรถยนต์ 6 กิโลเมตร และเดินทางเท้าอีก 9 กิโลเมตร ช่วงเวลาที่เหมาะสมกับการท่องเที่ยว คือ เดือนตุลาคม- มกราคม

5. เจดีย์ยอดด้วน (เขาสมอแคลง) 
มีอายุราว 700 ปี พงศาวดารเหนือบันทึกไว้ว่า พระยาจิตรไวย แห่งเจ้าเมืองน่านสร้างเจดีย์องค์นี้เพื่อบรรจุพระธาตุของพระอรหันต์เถระเจ้า คือ พระอุบาลีเถระและพระศิริมานนท์เถระ ซึ่งเป็นพระสงฆ์ 2 รูปที่ได้รับนิมนต์เป็นประธานฝ่ายสงฆ์สร้างพระพุทธชินราช ณ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร มีการซ่อมแซมและบูรณะมาหลายครั้งแล้ว ลักษณะเจดีย์เป็นทรงลังกา มีฐานสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ 3 ชั้น หลังจากนั้นจะเป็นฐานย่อแปดเหลี่ยมแล้วขึ้นเป็นองค์ระฆัง ลักษณะเด่นของที่นี่คือบริเวณยอดเจดีย์องค์ระฆังจะมีเพียงแค่ครึ่งซีกเท่านั้น

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

6.น้ำตกแก่งซอง 
เป็นแหล่งท่องเที่ยวในเขตอุทยานทุ่งแสลงหลวง ด้านจังหวัดพิษณุโลก ทางหลวงหมายเลข 12 กม. 45 เกิดจากลำน้ำเข็กลดระดับทำให้ธารน้ำมีลักษณะเป็นน้ำตกมีขนาดใหญ่ ในช่วงฤดูฝนน้ำจะมีลักษณะสีน้ำตาลขุ่น แต่ในช่วงฤดูหนาวและร้อนเมื่อน้ำลดระดับลงน้ำจะมีสีขาวใส สามารถพายเรือคายัคเล่นได้



7. อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า 
แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางอุดมการณ์ของชนชาติ ไทยที่สำคัญในอดีต อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ตั้งอยู่บนรอยต่อสามจังหวัด คือ พื้นที่อำเภอด่านซ้าย ของจังหวัดเลย พื้นที่อำเภอนครไทย ของจังหวัดพิษณุโลก และพื้นที่อำเภอหล่มสัก ของจังหวัดเพชรบูรณ์ มีอาณาเขตพื้นที่ประมาณ 191,875 ไร่


8.ลานหินแตก 
ลานหินขนาดใหญ่กินอาณาบริเวณ กว้างขวางถึง 40 ไร่ ลักษณะของลานหินเสมือนรอยแตกเป็นแนวร่องเหมือนแผ่นดินที่แยกออกจากกัน สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากการโก่งตัวหรือเคลื่อนตัวของผิวโลกในอดีต บริเวณลานหินแตกยังถูกปกคลุมไปด้วยพืชตระกูลมอส ไลเคน ตะไคร่ เฟิร์น ต้นกระดุมเงิน ดอกไม้ป่า และกล้วยไม้มากมาย


9.ลานหินปุ่ม 
อยู่ห่างจากอุทยาน 4 กิโลเมตร อยู่ริมหน้าผา มีลักษณะเป็นนูนโค้งเป็นทรงกลม ครึ่งวงกลม สันนิษฐานว่าเกิดจากการสึกกร่อนตามธรรมชาติของหินมาเป็นระยะเวลานับพันนับหมื่นปี


10.ผาชูธง 
เป็นเพิงผาสูงชัน สามารถมองทิวทัศน์บริเวณโดยรอบได้ถึง 360 องศา เป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกจุดหนึ่งที่เหมาะสำหรับการมานั่งรอชมบรรยากาศอาทิตย์ ลับขอบฟ้าในอดีตเคยเป็นสถานที่ที่กลุ่ม ผกค. ขึ้นไปชูธงแดงรูปค้อนเคียวทุกครั้งที่ทำการรบชนะฝ่ายรัฐบาล แต่ปัจจุบันมีการตั้งธงชาติไทยบนหน้าผาแทนธงสัญลักษณ์ของ พคท. แล้ว

 




คะแนนโหวต :
starstarstarstarstar
จำนวนการเข้าชม : 94,735